ชป.เร่งลงพื้นที่ 5 จังหวัดอีสาน-กลาง ทำความเข้าใจปชช.ช่วยประหยัดน้ำช่วงภัยแล้ง
8 ม.ค. 2563, 14:23
วันนี้ ( 8 ม.ค.63 ) ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังได้รับรายงานจากนายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ว่า ปริมาณน้ำในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัด (ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด) ปัจจุบันมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งได้วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ไว้ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า พร้อมกับได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทั่วถึง และร่วมกันรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำตามแผนที่ได้วางไว้อย่างเคร่งครัด อาทิ โครงการชลประทานขอนแก่น ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่บ้านห้วยเตย ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น เพื่อชี้แจงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเตย พร้อมส่งรถติดป้ายประชาสัมพันธ์และเครื่องขยายเสียง วิ่งประชาสัมพันธ์รอบๆหมู่บ้าน เพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด และคุ้มค่าที่สุด นอกจากนั้น ยังได้นำน้ำดื่มและผลไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตจากเกษตรกร นำไปมอบเป็นขวัญกำลังใจให้ชาวบ้าน ได้มีกำลังใจสู้กับปัญหาภัยแล้งไปด้วยกัน
ส่วนที่จังหวัดมหาสารคาม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ได้จัดประชุมเพื่อรับชี้แจงสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ พร้อมกับประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่อยู่ในเกณฑ์น้อยมาก ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ ซึ่งจากการลงพื้นที่สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ของสำนักงานชลประทานที่ 6 พบว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและให้ความร่วมมือในมาตรการใช้น้ำอย่างประหยัดของกรมชลประทานเป็นอย่างดี
ด้านนายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจ แก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2562/63 ในเขตรับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 1 (จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน) เพื่อให้สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ ทั้งยังเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และลดความเสียหายที่จะเกิดแก่ประชาชนและผลผลิตทางการเกษตร