ชาวเกาะคณฑีนับ 100 คน ร้องขอความเป็นธรรม หลังถูกนายทุนเจ้าของรีสอร์ทดังหาดชาญดำริ ปิดทางเข้าสุสาน อายุร่วม 100 ปี
22 พ.ย. 2562, 16:25
วันที่ 22 พ.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง อ.เมือง จ.ระนอง ได้มีชาวบ้านตำบลปากน้ำ(เกาะคณฑี) และชาวบ้านจาก ม.1,ม.2 และ ม.5 บ้านเขานางหงส์ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง รวมตัวกันประมาณ 150 คน ถือแผ่นป้ายพร้อมยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม กรณีนายทุนปิดกั้นเส้นทางทั้งฝั่งเหนือ-ใต้ ที่จะผ่านเข้าไปสุสานบรรพบุรุษ ที่ถนนสายเลียบชายหาดชาญดำริ ริมเชิงเขาม่วงหละ ม.5 บ้านเขานางหงส์ ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง ซึ่งมีประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าเขาม่วงหละให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2491 โดยทางชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอเรียกร้องกับทางจังหวัดระนอง เพียง 2 ข้อ คือให้นายทุนช่วยเปิดทางสาธารณะหาดชาญดำริให้สัญจรไปมาได้ เพราะเส้นทางดังกล่าวเป็นสมบัติของแผ่นดินมิใช่ของผู้หนึ่งผู้ใด และขอให้แยกพื้นที่สุสานริมเชิงเขา ที่มีหลุมฝังศพบรรพบุรุษ ที่มีอยู่ก่อนกว่า 100 ปี ออกจากการเช่าที่ดินจากกรมป่าไม้ของนายทุนด้วย
ซึ่งทางจังหวัด ได้มอบหมายให้ นายสมจิตร์ เขียนด้วง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดระนอง เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนจาก นายจรูญ ขอสันติกุล อดีตกำนันตำบลปากน้ำ/ประธานชุมชนตำบลปากน้ำ แกนนำกลุ่มชาวบ้านเกาะคณฑี โดยหลังจากรับหนังสือร้องเรียนแล้ว นายสมจิตร์ เขียนด้วง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดระนอง จึงได้เชิญแกนนำและตัวแทนชาวบ้านเกาะคณฑี เข้าพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง โดยมี นายชาตรี จันทร์วีระชัย ปลัดจังหวัดระนอง นายบุญชัย สมใจ นายอำเภอเมืองระนอง และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังและรับเรื่องดังกล่าวนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังจากนี้ต่อไป ทั้งนี้ทางตัวแทนจังหวัดได้นัดหมายกับชาวบ้านเกาะคณฑี ในการลงพื้นที่ร่วมกัน ณ รีสอร์ทดังกล่าว เพื่อตรวจสอบและหาทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 27 พ.ย. 2562
นายจรูญ ขอสันติกุล อดีตกำนันตำบลปากน้ำ/ประธานชุมชนตำบลปากน้ำ แกนนำกลุ่มชาวบ้านเกาะคณฑี กล่าวว่า แต่เดิมนั้นสถานที่หาดชาญดำรินั้น ตั้งอยู่บริเวณหมู่ 2 ตำบลปากน้ำ ในสมัยนั้นเส้นทางดังกล่าวชาวบ้านใช้สัญจรไปมาเป็นทางเดินและชาวปากน้ำเกาะคณฑี ใช้เป็นที่ฝังศพทุกครัวเรือน เพราะบรรพบุรุษเป็นคนจีนฮกเกี้ยน และจะใช้เส้นทางนี้มาตั้งแต่สมัย พ.ศ. 2475 ซึ่งรวมระยะเวลาร่วม 100 ปี ต่อมากรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ขยายพื้นที่แยกการปกครองเป็นหมู่ 5 บ้านเขานางหงส์ และผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้น คือ ร.ท.ชาญ เวชเจริญ ได้พัฒนาปรับถนนให้และเป็นจุดชมวิวตากอากาศลาดยางสร้างศาลาพัก เพราะสถานที่สวยงามโดยใช้งบประมาณของจังหวัด แต่เดิมนั้นชาวบ้านปากน้ำจะเรียกบริเวณนี้ว่า "หาดทรายแดง" และเป็นที่เผาศพเชิงตะกอนของชาวบ้านด้วย หลังจากมีการตัดถนนเป็นทางผ่านดีขึ้น ทางจังหวัดจึงตั้งชื่อตรงจุดบริเวณนี้ว่า "หาดชาญดำริ" จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของท่านผู้ว่าชาญฯ นักพัฒนาในสมัยนั้น ชาวบ้านเกาะคณฑี ก็จะใช้เส้นทางนี้ในกรณีมาฝังศพบรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันชาวบ้านเกาะคณฑี มีความเดือดร้อนเป็นอย่างมากที่เส้นทางนี้ถูกนายทุนปิดทางเส้นทางที่จะเข้าสุสานทั้ง 2 เส้น ทั้งฝั่งทางเหนือ-ใต้ เพราะเส้นทางนี้ปัจจุบันติดการรับผิดชอบอยู่ 2 เทศบาลในตำบลเดียวกัน คือ เทศบาลตำบลปากน้ำ กับเทศบาลตำบลปากน้ำท่าเรือ และแต่เดิมที่เป็นทางถนนในอดีตนายทุนก็สร้างบ้านพักคนงานปิดเส้นทางทั้งสองฝ่าย ลำบากตอนเทศกาลเช็งเม้งที่ชาวบ้านปากน้ำเกาะคณฑี ก็ลำบากต้องวิ่งรถอ้อมไปทางอันดามัน แต่บางรายที่สุสานอยู่ด้ายในของนายทุนที่ครอบครองอยู่ก็เข้าไปไม่ได้เพราะมีการทำประตูปิดกั้นเอาไว้ ต้องไปขอให้เปิดประตูทั้งๆ ทั้งที่เป็นที่สาธารณะมาตั้งแต่ในอดีตก่อนที่นายทุนผู้นี้จะมาอยู่ระนองด้วยซ้ำ พวกเราชาวปากน้ำรู้ดีว่าปัจจุบันป่าไม้ได้ให้นายทุนผู้นี้เช่าพื้นที่ไปแล้ว พวกเราไม่ได้ติดใจการเช่าของนายทุน แต่เราขอแค่ให้นายทุนผู้นี้เปิดทางสาธารณะให้เราสัญจรไป-มาได้ เป็นรถเข้าได้เหมือนเดิมโดยไม่มีสิ่งกั้นขวาง 2 พื้นที่เช่าจากป่าไม้กี่ร้อยไร่เราไม่เกี่ยว แต่ขอให้แยกสุสานออกจากสิทธิการเช่า เพราะนายทุนผู้นี้รู้ดีว่าสุสานมีอยู่ตรงไหนที่เขาเช่า ที่ครอบไปในสุสานด้วย เราขอความเป็นธรรมเพียง 2 ข้อเท่านั้นจากผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ขอให้แยกสุสานหลุมฝังศพที่มีอยู่ก่อนร่วม 100 ปี ออกจากการเช่าของนายทุน เพราะเดิมเป็นที่ป่าไม้ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติควบคุมด้วยซ้ำไป จึงขอความเป็นธรรมและเป็นกลางของความถูกต้องในครั้งนี้ด้วย เราขอ หวังว่าคงได้รับความถูกต้องจากนายทุนที่พวกเราจะขอทางสัญจรสาธารณะหาดชาญดำริคืนให้กับแผ่นดินทางสาธารณะทุกแห่ง คือ สมบัติของแผ่นดินมิใช่ของผู้หนึ่งผู้ใด พวกเราชาวบ้านปากน้ำเกาะคณที ขอฝากความหวังไว้กับทางจังหวัดด้วย