"ครูแก้ว" ชูวิกฤติน้ำโขงแห้ง เสนอที่ประชุมผู้นำอาเซียนแก้จีนกักน้ำ ชี้เป็นปัญหาระดับชาติ
4 พ.ย. 2562, 19:39
เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ปีนี้นอกจากปัญหาความเดอืดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ตนยังได้รับปัญหาความเดือดร้อนจากพี่น้องประชาชน หลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ติดกับแม่น้ำโขง รวมถึงนครพนม ในฐานะที่ตนเป็น ส.ส.นครพนม จึงได้วางแนวทางหลังลงพื้นที่ตรวจสอบ สภาพความเดือดร้อนผลกระทบจากปัญหาน้ำโขงแห้งขอด ถือว่าเป็นวิกฤติหนักสุดในรอบ 100 ปี ซึ่งจากการสอบถาม รับทราบปัญหาจากชาวบ้าน และได้มีโอกาสลงพื้นที่ตรวจสอบ สภาพ พื้นที่ จ.นครพนม พบว่าปีนี้ระดับน้ำโขงแห้งเร็ว ยังไม่ถึงเดือน มีนาคม และเมษายนแค่เดือนพฤศจิกายน น้ำโขงแห้งจนเกิด สันดอนทราย เป็นพื้นที่กว้าง และมีแนวโน้มระดับน้ำจะลดลงต่อเนื่อง
จากข้อมูลพบว่า ปัจจัยมาจากผลกระทบจากภัยแล้ง ปริมาณฝนน้อย ฝนทิ้งช่วง และที่สำคัญ มีการเก็บกักน้ำเขื่อนของประเทศจีน ส่งผลกระทบต่อปลายน้ำ สายน้ำโขงแห้ง เนื่องจากทางประเทศจีน มีเขื่อนกั้นน้ำโขง กว่า 10 แห่ง รวมถึง สปป.ลาว อีกหลายแห่ง เป็นต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ สิ่งที่ตามมาคือ ลำน้ำสาขาสายหลัก ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม ลำน้ำก่ำ และอีกหลายสาย ได้รับผลกระทบน้ำแห้งขอด ชาวบ้านขาดแคลนน้ำทำการเกษตร ความอุดมสมบูรณ์เริ่มหายไป และยังกระทบ ทำลายระบบนิเวศน์ แหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำโขงถูกทำลาย ชาวบ้าน อาชีพประมงรายได้ลดลง
ทั้งนี้ปัญหาน้ำโขงแห้ง ตนมองว่าปัจจุบันไม่ใช่แค่ผลกระทบภัยแล้ง ทั่วไป แต่เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ส่อวิกฤติรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี หากปล่อยไว้ จะนำความวิบัติตามมา ประชาชน พื้นที่ลุ่มน้ำจะเดือดร้อนหนัก ตนในฐานะตัวแทนชาวนครพนม รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ติดลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำสงคราม ลำน้ำสาขาสายหลัก ได้หารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง สรุปปัญหาความเดือดร้อน ผลกระทบจากการกักเก็บน้ำโขงประเทศจีน เสนอต่อรัฐบาลให้นำเสนอเข้าที่ประชุม ผู้นำอาเซียน ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อจะได้หารือร่วมกัน เพราะตนมองว่า ปัญหาน้ำโขงแห้งปัจจุบัน ไม่ใช่เพียงปัญหาภายในประเทศ เป็นปัญหาระหว่างชาติ ที่ถูกปล่อยปะละเลยมานาน ทั้งที่มีกฎหมายระหว่างประเทศกำกับดูแล แต่สุดท้ายปล่อยปะละเลย ให้บางประเทศแสวงประโยชน์ ไม่มีการตรวจสอบดูแล และปล่อยให้กระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ คนที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชน ขาดแคลนน้ำการเกษตร น้ำอุปโภค บริโภค ขาดแคลน อย่างไรก็ตามตนจะได้ผลักดันให้ทางรัฐบาลไทย นำปัญหาน้ำโขงแห้ง เข้าที่ประชุมระหว่างชาติ ที่เกี่ยวข้อง วางแนวทางการแก้ไขระยะยาว หากปล่อยไว้ เชื่อว่าจะถึงจุดจบของระบบนิเวศน์ ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติจากหมดไป ต้องร่วมกันเร่งแก้ไข ที่ต้นเหตุ ดีกว่าปล่อยไว้แล้วมาแก้ที่ปลายเหตุ สุดท้ายความวิบัติทางธรรมชาติจะตามมา พื้นที่อีสานหนักสุด