ชาวบ้านวอนหน่วยงานตรวจหาสาเหตุ น้ำเสียทำปลาตายในคลองบางนางรม
18 ก.ย. 2567, 18:22
วันที่ 18 กันยายน 67 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนให้ไปตรวจสอบปัญหาน้ำในคลองบางนางรมมีกลิ่นเน่าเหม็น มีน้ำแยกเป็นสองสี มีปลาหลายชนิดลอยคอเหนือผิวน้ำ ที่ด้านหน้าสนามซ้อมของสโมสรฟุตบอล พีที ประจวบ เอฟ ซี หมู่ 2 ต.อ่าวน้อย อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ จึงไปตรวจสอบพบเจ้าหน้าที่ประจำสโมสรฟุตบอลช่วยกันใช้แหจับปลาน้ำจืดหลายชนิดมากกว่า 300 กิโลกรัม ตั้งแต่ช่วงเช้ามืด เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในบริเวณใกล้เคียง แจกจ่ายให้แรงงานชาวต่างชาติที่ทำงานเป็นลูกจ้างในสโมสรนำไปปรุงอาหาร
โดยเจ้าหน้าที่สโมสรฯแจ้งว่าปัญหาน้ำเหม็นเน่า มีปลาตายเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2567 เนื่องจากฝนทิ้งช่วง น้ำในคลองไม่ได้ระบายไหลลงทะเล ประกอบกับสภาพอากาศปิด ไม่มีแสงแดดทำให้น้ำเน่าเสียง่าย ที่ผ่านมายอมรับว่าสภาพน้ำในคลองมีปัญหาเน่าเสียหลายครั้ง แต่ทางสโมสรไม่ได้สูบน้ำไปใช้ในกิจการใด เนื่องจากน้ำในคลองมีความจำเป็นกับชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเกษตรกรที่อาศัยอยู่ริมคลอง ส่วนสาเหตุที่ต้องรีบจับปลาขึ้นจากน้ำ เนื่องจากปลาจำนวนมากน็อกน้ำ ต้องจับก่อนปลาตาย เพื่อลดผลกระทบจะได้ไม่ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็น ที่จะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงในแหล่งชุมชนที่พักอาศัย และ กลิ่นเหม็นเน่าจะส่งผลเสียกับการซ้อมของนักฟุตบอลในระดับไทยลีก 1
นายทรงเกียรติ ลิ้มอรุณรักษ์ ประธานสโมสร พีทีฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้น้ำเสีย หลังจากปลาจำนวนมากมีอาการน็อกน้ำตั้งแต่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ล่าสุดหนักกว่าครั้งก่อนโดยที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ที่ผ่านมาพยายามแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆเพื่อให้ตรวจสอบคุณภาพน้ำ แต่ไม่ได้รับความสนใจ บางหน่วยก็มาหลังจากสภาพน้ำกลับคืนสู่สภาพปกติ ตรวจสอบแล้วแจ้งว่าน้ำไม่มีปัญหา ขณะที่ทางสโมสรฯมีการใช้เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพพบว่าน้ำในคลองมีค่าน้ำเสียเกินมาตรฐานกำหนด จึงขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองช่วยให้ความสนใจเรื่องนี้ เนื่องจากคลองบางนางรมเป็นคลองเก่าแก่ที่มีความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ของชาวบ้านส่องฝั่งคลอง
นายนพพร สิทธิเกษกมกิจ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการประมง สำนักงานประมง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากประชาชนว่าน้ำในคลองบางนางรมบริเวณฝายน้ำล้น มีกลิ่นเน่าเหม็น มีปลาน็อกน้ำ จึงไปตรวจสอบพร้อมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยเพาะสัตว์น้ำชายฝั่ง นำอุปกรณ์เครื่องตรวจวัดคุณภาพน้ำไปตรวจสอบ เบื้องต้นยอมรับว่าน้ำในคลองมีกลิ่น จากนั้นจะวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้น้ำเน่าเสียและต้องแก้ไขที่ต้นเหตุ จะมีการตรวจสอบหาสาเหตุตลอดแนวลำคลองว่ามีการปล่อยน้ำทิ้งจากการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมหรือกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือไม่