เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ปภ. จัดประชุม กอปภ.ก. ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย


6 ก.ย. 2567, 15:49



ปภ. จัดประชุม กอปภ.ก. ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย




วันนี้ ( 6 ก.ย.67 ) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุม 1 ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในห้วงปัจจุบัน พร้อมประสานการปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุกทภัยในห้วงต่อไป ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด โดยมี ผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 12 หน่วยงาน รวมถึงผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัดร่วมประชุมฯ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Webex)

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 จังหวัด (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กันยายน 2567 เวลา 06.00 น.) ได้แก่ เชียงราย สุโขทัย พิษณุโลก และนครสวรรค์ รวม 12 อำเภอ 31 ตำบล 103 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,469 ครัวเรือน รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพยสินของพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยนายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ การบริหารจัดการน้ำ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาและเยียวยาประชาชนที่ประสบภัยโดยเร็ว และจะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเสนอเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์ในห้วงต่อไป หน่วยงานกลุ่มพยากรณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ว่า ช่วงเดือนกันยายน 2567 ประเทศไทยยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น เนื่องด้วยอิทธิพลของร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรง และอาจได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทย อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัยและบริเวณที่เกิดภาวะน้ำท่วมขังเป็นประจำ กรมป้องกันและบรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงได้เน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในห้วงต่อไป เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง และลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด โดยให้จังหวัดที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะด้านการดำรงชีพ การดูแลความปลอดภัย และเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานหน่วยงานต่าง ๆ เร่งสำรวจความเสียหายและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน และดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในห้วงต่อไป โดยเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ที่อาจส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย และแจ้งเตือนประชาชนให้พร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกช่องทางการสื่อสาร ตลอดจนดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ประจำพื้นที่เสี่ยงภัย หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยให้ระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วน โดยจัดชุดปฏิบัติการเร่งคลี่คลายสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชน ส่วนด้านการบริหารจัดการน้ำ ได้กำชับให้หน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารจัดการน้ำโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนให้มีน้อยที่สุด แต่ถ้าหากจำเป็นต้องระบายน้ำหรือพร่องน้ำให้แจ้งเตือนประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้า อีกทั้งได้เน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบพนังกั้นน้ำ คันกั้นน้ำชั่วคราว ฝาย ประตูระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำ ให้มีความมั่งคงแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำตก ถ้ำ ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนัก มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้แจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด รวมถึงประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง เร่งตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว โดยเฉพาะป้ายโฆษณาขนาดใหญ่และต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้เสาไฟฟ้า หากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายให้ทำการตัดกระแสไฟทันที สำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล หากมีแนวโน้มเกิดคลื่นลมแรงให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนการเดินเรือและดำเนินการตามมาตรการเพื่อความปลอดภัย ตลอนจนแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากคลื่มลมแรงและนักท่องเที่ยวทราบ รวมถึงงดกิจกรรมทางทะเล หรือออกห่างจากพื้นที่ชายฝั่งทะเล

“ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการแจ้งเตือนภัยที่เป็นระบบที่ได้ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงภัย 70 จังหวัด รวม 1,460 แห่ง รวมถึงยังมีการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนผ่าน Mobile Application “Thai Disaster Alert” และได้จัดชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนได้กำชับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้ง 18 ศูนย์เขต เตรียมพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย ยานพาหนะ เครื่องมือและอุปกรณ์ ให้พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดในพื้นที่ที่รับผิดชอบและบริหารจัดการกระจายทรัพยากรเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ อีกทั้งเตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการกู้ภัยทางน้ำกว่า 180 นาย ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนทันที สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปภ. ได้ประสานจังหวัดจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราวกว่า 10,700 แห่ง ให้พร้อมรองรับการอพยพของประชาชน หากสถานการณ์อุทกภัยมีความรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคใต้ ปภ. ได้เตรียม “ศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ 7 จังหวัด 12 แห่ง ได้แก่ นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยสามารถรองรับผู้อพยพได้แห่งละ 300 คน” นายไชยวัฒน์ กล่าว

ท้ายนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ ข้อมูลข่าวสาร และการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทาง Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.