รพ. สังกัด "กรมการแพทย์" พร้อมรับส่งต่อ "ผู้ป่วย 30 บาทรักษาทุกที่" จากหน่วยปฐมภูมิ ใน กทม.
17 ส.ค. 2567, 09:51
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์พร้อมและจะมีส่วนร่วมกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะคิกออฟและเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการปลายเดือน ส.ค. 2567 อย่างแน่นอน
พญ.อัมพร กล่าวว่า โรงพยาบาลระดับสูงในสังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง ใน กทม. ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลนพรัตน์ จะทำหน้าที่รองรับกลุ่มโรคที่มีความยุ่งยากซับซ้อนหรือต้องใช้ความต้องใช้เครื่องมือหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลที่รักษาเฉพาะโรค เช่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันประสาทวิทยา สถาบันโรคทรวงอก โรงพยาบาลสงฆ์ จะรองรับกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะโรคในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์จะดำเนินการใน 2 มิติ ประกอบด้วย 1. การให้บริการ ซึ่งโรงพยาบาลกรมการแพทย์ถูกออกแบบให้เป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อ” ในกรณีที่เกินศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือกรณีที่หน่วยบริการทุติยภูมิของ กทม. ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ เช่น โรงพยาบาลราชวิถี จะรับส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลในสังกัดของสำนักการแพทย์ กทม. หรือจากศูนย์บริการสาธารณสุขหรือชุมชนคลินิกชุมชนอบอุ่นต่างๆ โดยมีการแบ่งโซนว่าโรงพยาบาลไหนรับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการใดบ้าง ฉะนั้นโรงพยาบาลกรมการแพทย์จะไม่ลงไปถึงระดับปฐมภูมิ เพราะนั่นเป็นบทบาทของหน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วย
2. การสนับสนุนให้ระบบบริการมีความคล่องตัว เช่น การพัฒนาระบบ Online ต่างๆ การออกแบบระบบและเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายร่วมกัน เพื่อช่วยทำให้การให้บริการมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีเรื่องของ Virtual Hospital คนไข้อยู่ที่บ้านแต่ได้รับการตรวจรักษาเสมือนพบกับแพทย์ที่โรงพยาบาล หากต้องเจาะเลือดก็สามารถเจาะเลือดกับหน่วยบริการปฐมภูมิหรือ Lab ใกล้บ้านแล้วรับฟังผลเลือดออนไลน์และมียาจัดส่งให้ถึงที่บ้าน เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ยังมีบทบาทของการเป็นที่ปรึกษาออนไลน์ การเป็นผู้ให้ความรู้พัฒนาทักษะให้กับหน่วยบริการในพื้นที่ กทม. มีการประมวลข้อมูลและสังเคราะห์ออกมาเป็นทิศทางนโยบายการพัฒนาระบบทั้งด้านการรักษาและทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
"ความแตกต่างจากระบบการส่งตัวที่มีอยู่เดิมกับหลังจากเข้าร่วมโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว คงเป็นเรื่องของการพัฒนาความคล่องตัวในการส่งต่อ แทนที่จะมีความยุ่งยากต่างๆ นานา เราก็จะปรับให้มีการเชื่อมต่อกันแบบไร้รอยต่อให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าต่อให้เป็นโรคร้ายแรง แต่หากเดินไปที่หน่วยบริการปฐมภูมิก็จะได้รับการดูแลต่อเนื่องไปจนถึงการดูแลในระดับสูงได้อย่างปลอดภัย ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าความไร้รอยต่อนี้จะถูกพัฒนาให้มากขึ้นเรื่อยๆ" พญ.อัมพร กล่าว