ตม.ประจวบฯ รวบแรงงานเถื่อนเมียนมา แอบข้ามแดนรับจ้างทำงานกลางคืนเมืองหัวหิน
12 ก.ค. 2567, 17:00
เมื่อคืนวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 พ.ต.อ.เศรษฐภัทร ณ สงขลา ผกก.ฯรรท.ผกก.ตม.จว.ประจวบคีรีขันธ์ สั่งการให้ พ.ต.ท.ณัฎฐวรรธ แก้วทิพย์เนตร สว.ตม.จว.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย ร.ต.อ.อชิตะ บันเทิงจิตร , ร.ต.อ.ศราวุฒิประยูรวงศ์ พร้อมกำลังฝ่ายสืบสวนปราบปราม บูรณาการร่วมกับ เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายจิรศักดิ์ แสงทอง นักวิชาแรงงานปฏิบัติการ ทำการวางแผนการตรวจสอบและจับกุม แรงงานต่างด้าวที่แอบลักลอบทำงานในบริเวณตลาดโต้รุ่ง หัวหิน ซึ่งเป็นการแย่งอาชีพคนไทย
พ.ต.อ.เศรษฐภัทร ฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.ตม.3, และ พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพะยอม รอง ผบก.ตม.3 ได้กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทุกจังหวัด เร่งสืบสวนจับกุมบุคคลต่างด้าวที่แฝงตัวเข้ามาประกอบอาชีพทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต แย่งอาชีพคนไทย เป็นไปตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติมอบไป เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองร่วมบูรณาการกับเจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัด ทำการตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ ที่กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว การปราบปรามการลักลอบเข้าประเทศตามช่องทางธรรมชาติ และทำงานโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างชาติ .ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดยก่อนหน้านี้ ได้รับแจ้งการร้องเรียนผ่านสื่อสารมวลชนว่า มีผู้หวังดีแจ้งว่า “ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดินยามค่ำคืนของเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แหล่งขายสินค้า และอาหาร มากมาย ระยะหลังหน้าตาแม่ค้าพ่อค้าเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นชาวต่างชาติ เข้ามาค้าขายเยอะมาก นอกจากแย่งอาชีพสงวนสำหรับคนไทยอย่างท้าทายผิดกฎหมาย” จึงได้ออกทำการสืบสวนหาข่าวในทันที จนกระทั่งค่ำของวันนี้ 11 กรกฎาคม 2567 ได้ประสานงานกับจัดหางานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร่วมกันนำกำลังเดินทางไปตรวจสอบ ภายในบริเวณตลาดโต้รุ่งหัวหิน พบว่ามีแรงงานต่างชาติสัญชาติเมียนมาร์ ทั้งหญิงและชายกำลังทำงานปรุงอาหารประเภทต่างๆ อยู่ตามร้านค้าต่างๆ เมื่อตรวจสอบพบว่าบางรายมีเอกสารการได้รับอนุญาติให้อยู่ในราชอาณาจักรถูกต้อง และมีใบอนุญาตการทำงานกับบนายจ้างเจ้าของร้านถูกต้อง จำนวน 3 ราย และพบแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ ที่ไม่มีเอกสารการเดินทางและใบอนุญาตการทำงาน จำนวน 2 ราย คือ 1. MR.KHANT KYAW AUNG อายุ 20 ปี สัญชาติเมียนมา ได้ทำงานอยู่ภายในร้านขายปลาหมึกย่าง โดยทำหน้าที่ย่างหมึกและขายหมึกย่าง ทำงานอยู่กับนายจ้างชื่อ นางสมลักษณ์ (นามสมมุติ) ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท และ 2. MR.KAUNG HTET อายุ 19 ปี สัญชาติเมียนมา ได้ทำงานอยู่ภายในร้านขายแมงกะพรุนย่าง โดยทำหน้าที่ย่างแมงกะพรุนและขายแมงกะพรุน ทำงานอยู่กับนายจ้างชื่อ นางสมลักษณ์ (นามสมมุติ) ได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท เช่นกัน โดยทั้ง 2 รายรับว่าได้เป็นบุคคลสัญชาติเมียนมาร์ แอบลักลอบเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเมื่อหลายปีก่อนและได้เร่ร่อนหางานทำไปหลายที่ จนกระทั่งมาถูกจับกุมดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ในข้อหา เดินทางเข้ามาและอยู่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต และตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใน“มาตรา 8 ห้ามคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้...” พร้อมทั้งได้ทำการจับกุมตัว นางสมลักษณ์ (นามสมมุติ) ซึ่งเป็นนายจ้าง ตรงที่เกิดเหตุ โดยกล่าวหาว่า “ให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้" อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2 )พ.ศ. 2561 มาตรา 9 และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ 2522 ข้อหา “ รู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้าในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้น พ้นจากการจับกุม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท อันเป็นการฝ่าฝืน โดยนำตัวผู้ต้องหาส่ง สภ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ตม.จว.ประจวบคีรีขันธ์ ขอแจ้งประชาสัมพันธ์ว่า ตามพระราชกำหนดการ (พ.ร.ก.) บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากสิทธิที่ทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และนายจ้าง/สถานประกอบการที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี และหากคนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมือง นายจ้างยังคงต้องมีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ 2522 ในข้อหา “ รู้ว่าคนต่างด้าวคนใดเข้าในราชอาณาจักร โดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ ให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้น พ้นจากการจับกุม” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท อีกด้วย