ศาลเยาวชนฯ จับมือโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ เปิดโครงการ “การสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนด้วยการไกล่เกลี่ย”
24 มิ.ย. 2567, 11:34
วันนี้ 24 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่ห้องประชุมกาญจนิกา อาคาร 4 โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นางกนกพร ศิลาภากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดโครงการ “การสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนด้วยการไกล่เกลี่ย”ตามแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ.2565 -2568 โดยมีนายมนัส มนัสปิยะเลิศ ผู้ประนีประนอมประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวรายงาน ดร.สมพงษ์ เตชรัตนวรกุล ผู้อำนวยการ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ กล่าวให้การต้อนรับ
มีนางสายพร อินทนินท์ นางกัลยกร จงสกุล ผู้ประนีประนอมฯ นางสาวสิธยา อนุสนธิ์ นักจิตวิทยาชำนาญการพิเศษ คณะผู้พิพากษาสมทบ คณะผู้ประนีประนอมประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี คณะผู้ไกล่เกลี่ยรุ่นเยาว์โรงเรียนวิสุทธรังษี นักเรียนโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาทั้งชายและหญิง กว่า 200 คน เข้าร่วม และนอกจากนี้ นางสาวภัทรนันท์ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคม ได้มอบหมายให้คณะครูและนักเรียนโรงเรียนห้วยกระเจาพิทยาคมจำนวนหนึ่งเดินทางมาร่วมศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วย
โดยหลังจากที่นางกนกพร ศิลาภากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี เปิดโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ได้ทำพิธีมอบป้าย “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์”ให้กับทางโรงเรียน โดยมี ดร.สมพงษ์ เตชรัตนวรกุล ผู้อำนวยการ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ เป็นผู้รับมอบ
นางกนกพร ศิลาภากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณความปรารถนาดีที่ทุกท่านตระหนักถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งเป็นอนาคตของชาติ และเล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ความรู้ในด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แก่เด็กและเยาวชนในสถาบันการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการระงับข้อพิพาทความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาหรือในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง
การจัดโครงการในวันนี้จึงนับได้ว่าเป็นการรณรงค์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือวิธีระงับความขัดแย้งให้เป็นที่รู้จักให้แพร่หลายในหมู่ประชาชน อันเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรมและตามนโยบายท่านประธานศาลฎีกา ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติได้มีส่วนร่วมในการระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสถานศึกษา และเพื่อฝึกและเตรียมความพร้อมให้เยาวชนสามารถจัดการกับความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รวมทั้งเป็นการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม และจะเป็นการประสานความร่วมมืออันดีระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน อีกด้วย
โดย“โครงการสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนด้วยการไกล่เกลี่ย”ตามแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ.2565 -2568 ยุทธศาสตร์ T เชื่อมั่นศรัทธาการอำนวยความยุติธรรม มุ่งส่งเสริมและพัฒนาระบบการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงคุณประโยชน์ของการระงับข้อพิพาท
สำหรับนโยบายท่านประธานศาลฎีกา นโยบายที่ 1 ที่พึ่ง ศาลยุติธรรมพร้อมเป็นที่พึ่งของประชาชนในโอกาสแรกที่ได้รับความเดือดร้อนหรือ มีข้อพิพาท โดยส่งเสริมกระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกในทุกขั้นตอน เพื่อให้ความขัดแย้งยุติลงด้วยความสมานฉันท์ไม่ก่อภาระค่าใช้จ่ายแก่คู่ความ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามแผนยุทธศาสตร์และนโยบายดังกล่าว จึงต้องมีการรณรงค์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทหรือวิธีระงับความขัดแย้งให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ประชาชน
และด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรีเล็งเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชนในสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นอนาคตของชาติและปัจจุบันปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกิดมีขึ้นทั้งในสังคมทั่วไปและในสถาบันการศึกษา ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรีจึงจัดโครงการ“การสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนด้วยการไกล่เกลี่ย” ขึ้นในวันนี้ โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรีและสถาบันการศึกษาโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์” นางกนกพร ศิลาภากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าว
ด้าน ดร.สมพงษ์ เตชรัตนวรกุล ผู้อำนวยการ โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ กล่าวว่า การฝึกอบรม“โครงการสร้างสันติวัฒนธรรมในโรงเรียนด้วยการไกล่เกลี่ย”และการเปิด “ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์”ซึ่งโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ของเรามีห้องเรียนอยู่ทั้งหมด 117 ห้องเรียน โดยคัดเลือกนักเรียนมาอบรมในครั้งนี้ห้องเรียนละ 2 คน ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี ที่กรุณาเลือกโรงเรียนของเราเป็นแหล่งให้ข้อมูลและเพาะพันธุ์เยาวชนในการไกล่เกลี่ยในอนาคต เพราะถือว่าโรงเรียนของเราจะเป็นจุดเริ่มต้นในการไกล่เกลี่ย อนาคตหากมีการไกล่เกลี่ยได้สำเร็จจะทำให้คดีพิพาทในเด็กและเยาวชนในโรงเรียนต่างๆก็จะน้อยลง