ประจวบกิจกรรมปลูกต้นโกงกางคืนป่าชายเลน ลดโลกร้อน ลดปัญหาลิงเขาช่องกระจกรบกวนประชาชน
12 มิ.ย. 2567, 17:12
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 12 มิถุนายน 67 นายสินาทร โอ่เอี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ในพิธีเปิดโครงการประจวบรวมใจ ลดโลกเดือด ภายใต้กิจกรรม"พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง" (Our land. Our future. We are #GenerationRestoration.) เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก และ วันต้นไม้ประจำปีของชาติ ประจำปี 2567 ในวันที่ 5 มิ.ย.ของทุกปี ณ บริเวณป่าชายเลนคลองบางนางรม อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายปรีดา สุขใจ ปลัดจังหวัดประจวบฯ นายกมล แก้วเทศ นายกเทศมนตรีเมืองประจวบฯ นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายก อบจ.ประจวบฯ นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำนักเรียนนักศึกษา ประชาชนชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรม
โดยกิจกรรมดังกล่าว สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดขึ้น 1.เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้สมบูรณ์ และเหมาะสม สามารถเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิดได้ในอนาคต โดยเฉพาะลิงแสมเขาช่องกระจก 2.เพื่อกระตุ้นให้ภาคประชาชน เอกชน และหน่วยงานของรัฐได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม 3.เพื่อเป็นการสร้างและกระตุ้นจิตสำนึกให้ทุกภาคส่วนได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ลดมลภาวะเป็นพิษจากฝุ่นและหมอกควัน อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2567 เนื่องจากขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับวิกฤต โดยได้ร่วมกันปรับภูมิทัศน์ เก็บขยะ และปลูกต้นไม้บริเวณป่าชายเลนคลองบางนางรม เป็นพันธุ์ไม้โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ ต้นโปรงแดง-ขาว-ทอง และต้นจาก รวมจำนวน 2000 ต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเชิญชมนิทรรศการ และการจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ต่างๆให้กับ เยาวชนและผู้สนใจ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดตั้งอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน(ทสม.) กฎหมายที่ควรรู้ในการขอเจาะน้ำบาดาล การเติมน้ำใต้ดิน และความรู้เกี่ยวกับป่าชายเลน เป็นต้น
นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการที่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN (ยูเอ็น) ได้ประกาศให้ วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) โดยในปี 2567 ได้กำหนดธีมในการรณรงค์มุ่งเน้นในเรื่องการฟื้นฟูที่ดิน โดยการแปรสภาพจากทะเลทราย และการฟื้นตัวจากภัยแล้ง เนื่องจากโลกกำลังเผชิญวิกฤต 3 ประการที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างน่ากังวล ได้แก่ วิกฤตการณ์เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิกฤตทางธรรมชาติและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤตมลพิษและของเสีย ทำให้ที่ดินเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของโลก การฟื้นฟูที่ดินจะเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนและทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศช้าลง อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้กำหนดคำขวัญที่ใช้ในการรณรงค์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก คือ "Our land. Our future. We are #GenerationRestoration." และได้กำหนดคำขวัญเป็นภาษาไทยว่า "พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤตภัยแล้ง" ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2532 อนุมัติให้วันวิสาขบูชาของทุกปีเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ เพื่อเป็นการสร้างและกระตุ้นจิตสำนึกให้ประชาชนและทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติ เป็นการปลูกต้นไม้ในใจคน อีกทั้งช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดมลภาวะเป็นพิษจากฝุ่นและหมอกควัน
นายนิทัศน์ จันทร์ทอง กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมปลูกป่าชายเลนบริเวณคลองบางนางรมแห่งนี้ เนื่องจากเป็นจุดที่อยู่ใกล้กับสังคมเมืองมากที่สุด เพื่อเป็นการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มออกซิเจนให้กับอากาศ อีกทั้งในอดีตบริเวณป่าชายเลนแห่งนี้เคยอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของลิงแสม แต่ต่อมาเมื่อสภาพป่าเสื่อมโทรมลงทำให้ลิงแสมทยอยย้ายถิ่นฐานไปหาอาหารกินจากมนุษย์ในสังคมเมือง และอาศัยอยู่ที่เขาช่องกระจก ซึ่งในปัจจุบันได้สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้กับสถานที่ราชการและประชาชน ซึ่งการปลูกป่าคืนสภาพความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนดังเดิมน่าจะสามารถทำให้ลิงแสมย้ายกลับมาอยู่อาศัยและหาอาหารในถิ่นเดิม ลดการหาอาหารจากมนุษย์ในสังคมเมืองได้ จึงอยากฝากถึงประชาชนทุกคนและจิตอาสา เมื่อช่วยกันปลูกต้นไม้แล้วก็อยากให้กลับแวะเวียนเข้ามาเที่ยวชม และติดตามต้นไม้ที่ปลูกไว้ให้เจริญงอกงามต่อไป