"รัฐบาล" เดินหน้ารับมือกับความท้าทาย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกอย่างยั่งยืน
6 มิ.ย. 2567, 09:26
วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน 2567 สาธารณรัฐเปรู ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 12 ขึ้น เพื่อให้ประเทศสมาชิกรับทราบและรับรองผลการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเอเปค ปี พ.ศ. 2563-2567 รวมทั้งมอบนโยบาย และกำหนดทิศทางการดำเนินงานในสาขาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยในการประชุมจะได้ร่วมกันรับรองร่างเอกสาร 3 ฉบับ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (4 มิ.ย. 2567) ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติแล้ว ได้แก่
1. ร่างถ้อยแถลงการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค ครั้งที่ 12
2. ร่างข้อเสนอเชิงนโยบาย “หลักการในการป้องกันและลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก” และ
3. ร่างแนวคิดโครงการ “แพลตฟอร์มเอเปคเพื่อเผยแพร่โอกาสความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก”
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ร่างถ้อยแถลงฯ มีสาระสำคัญเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายในภาคการท่องเที่ยวในปัจจุบัน รวมถึงการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการและการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในขณะที่ ร่างข้อเสนอเชิงนโยบายฯ เป็นโครงการวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยสาธารณรัฐเปรู ซึ่งได้ระบุเกี่ยวกับปัญหาของการทำอาหารที่เกี่ยวข้องกับการสร้างขยะอาหารในภาคการท่องเที่ยว และได้มีข้อเสนอแนะ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนหลักการของเอเปคให้เป็นรูปธรรม และร่างแนวคิดโครงการฯ ที่มีเป้าหมายในการสร้างแพลตฟอร์มการจัดการข้อมูลด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในภาคการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการทำงานร่วมกัน การถ่ายทอดความรู้ การแลกเปลี่ยนโอกาสด้านความร่วมมือที่มีอยู่ และการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก
ทั้งนี้ ร่างเอกสารฯ จำนวน 3 ฉบับ เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก และเป็นการแสดงถึงความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว และกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก อย่างครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงยังเป็นการสนับสนุนบทบาทเด่นของประเทศไทยในเวทีนานาชาติด้วย
“โควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวในหลายทิศทาง ทั้งแนวความคิดที่มีต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และใส่ใจรับผิดชอบ และรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวทางหลักของการประชุมนี้ที่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อรับมือกับความท้าทายในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมร่วมเดินหน้ากับเอเปค ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต และประเพณี สร้างงาน กระจายรายได้ให้แก่ท้องถิ่น” นางรัดเกล้าฯ กล่าว