ผอ.ป.ป.ช.ศรีสะเกษ บุกตรวจสอบสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านส้มป่อยใหญ่พังเสียหายริมแม่น้ำมูล พบว่าพังเสียหายเพราะแพรั่วและกระแสน้ำท่วมที่ไหลเชี่ยว
19 เม.ย. 2567, 20:05
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานเทศบาลตำบลส้มป่อย อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายอดุลย์ วันดี ผอ.สนง.ป.ป.ช.ประจำ จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายวรฉัตร ส่งสุข พนักงานไต่สวนระดับสูง นายอภินันท์ ศรีมุกดา เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ นายชลากร สีหะวงษ์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตปฏิบัติงาน ได้เดินทางไปประชุมร่วมกับ น.ส.ชวันรัตน์ สะอาดธนาทรัพย์ นายกเทศมนตรี ต.ส้มป่อย และนายเทอดศักดิ์ เขียนนิลศิริ นายช่างชลประทานอาวุโส โครงการชลประทานศรีสะเกษ เพื่อทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีการร้องเรียนผ่านเพจชื่อดังแห่งหนึ่งว่า สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านส้มป่อยใหญ่ ต.ส้มป่อย อ.ราษีไศล ชำรุดใช้การไม่ได้มานานแล้ว โดยมี นายกเทศมนตรี ต.ส้มป่อย พร้อมด้วย นายบุญเรือง กองแก้ว รองนายกเทศมนตรี ต.ส้มป่อย นายอนันต์ ขาวจัตุรัส ปลัดเทศบาล ต.ส้มป่อยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากนั้น คณะของ ผอ.สนง.ป.ป.ช.ประจำ จ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปที่ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านส้มป่อยใหญ่ เพื่อตรวจสภาพข้อเท็จจริง ปรากฏว่า แพของสถานีสูบน้ำและอุปกรณ์ประกอบอยู่ในสภาพที่เก่าขึ้นสนิมพังเสียหายไม่สามารถใช้งานได้จอดอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล มีเชือกขนาดใหญ่มัดติดอยู่กับหลักตอม่อเพื่อไม่ให้แพสูบน้ำไหลไปตามน้ำของลำน้ำมูล ซึ่ง ผอ.สนง.ป.ป.ช.ประจำ จ.ศรีสะเกษ ได้ทำการตรวจสอบสภาพของสถานีสูบน้ำแล้วพบว่าไม่สามารถที่จะใช้สูบน้ำไปให้ประชาชนใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้
น.ส.ชวันรัตน์ สะอาดธนาทรัพย์ นายกเทศมนตรี ต.ส้มป่อย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2565 ที่น้ำท่วมทำให้เรือแพพลิกคว่ำ แล้วย้อนไปปี 2562 แพมันรั่ว ซึ่งตนได้ทำหนังสือไปหาโครงการชลประทานศรีสะเกษและโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง เพื่อให้เข้ามาช่วยในการที่จะซ่อมบำรุงให้กลับไปมีสภาพเหมือนเดิม แต่ว่าเนื่องจากสภาพของมันไม่สามารถที่จะทำการซ่อมแซมได้ เพราะว่าอุปกรณ์บางตัวไหม้หมดไม่สามารถใช้งานได้ประกอบกับงบประมาณเรามีไม่เพียงพอที่จะฟื้นคืนสภาพของมันมาให้ เหมือนเดิมได้ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากอีกทั้งผู้ชำนาญการของเราในเรื่องการดูแลเครื่อง เจ้าหน้าที่ของเราไม่สามารถที่จะทำการซ่อมได้ ซึ่งเราได้ติดต่อช่างภายนอกให้เข้ามาดูแต่ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม เท่ากับการซื้อใหม่เราจึงได้ทำเรื่องไปหาโครงการชลประทานศรีสะเกษว่า จะขอให้ชลประทานศรีสะเกษมาช่วยเรามาเก็บกู้เพื่อนำเอาเรือทั้งหมดมาเก็บไว้ในคลังก่อนซึ่งเรามีพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งจะได้มีการบูรณาการร่วมกันว่าจะช่วยเหลือทางเทศบาล ต.ส้มป่อยได้อย่างไร ตรงนี้ก็มีข้อตกลงมาเรียบร้อยแล้วว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างและทางชลประทานศรีสะเกษ จะเข้ามาทำการเก็บกู้สถานีสูบน้ำตรงนี้ให้เราโดยจะเริ่มลงมือในวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.67) จากนั้นจะทำการประมาณการในเรื่องความเสียหายค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทั้งหมด ทางชลประทานศรีสะเกษจะเป็นเจ้าของดูแลให้การซ่อมแซมบำรุง โดยชลประทานศรีสะเกษเป็นเจ้าภาพงานแต่ทั้งนี้และทั้งนั้นมันติดขัดอยู่ในเรื่องของการถ่ายโอนซึ่งจะต้องดูในข้อกฎหมายก่อนว่าทำได้แค่ไหน ตอนนี้เราได้รับโอนทั้งหมดมาแล้วทุกสถานี ที่เห็นอยู่ตรงนี้ก็คือ หมู่ 7 และหมู่ 17 ใช้ แต่ว่าก่อนหน้านี้เราก็ใช้ประโยชน์มาได้ด้วยดี แต่พอปี 2565 แพได้รั่วด้วย และอีกอย่างหนึ่งก็คือมันล่มมาก่อนที่ตนจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี แต่ว่าสถานีสูบน้ำหมู่ 7 พังเสียหาย เป็นเพราะภัยพิบัติจริงๆ เราได้ดึงเอาไว้โดยใช้เชือกพยายามจะดึงเอาไว้แต่เนื่องด้วยความเชี่ยวกรากของกระแสน้ำและความแรงของน้ำและความหนักของตัวแพทำให้ตัวแพพลิกคว่ำ
นายเทอดศักดิ์ เขียนนิลศิริ นายช่างชลประทานอาวุโส โครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวว่า ในส่วนของสถานีสูบน้ำส้มป่อยใหญ่ท่านอธิบดีกรมชลประทาน ท่านผู้บริหารของสำนักชลประทาน 8 กรมชลประทาน ก็ได้มอบหมายให้ทางโครงการชลประทานศรีสะเกษเข้ามาประสานงานกับท้องถิ่นที่จะเข้ามาทำการช่วยเหลือ ซึ่งในเบื้องต้นก็จะส่งเครื่องจักรเข้ามาช่วยย้ายแพขึ้นมาจากน้ำก่อน หลังจากนั้นก็จะให้เป็นขั้นตอนของท้องถิ่นในการดำเนินการเก็บตัวมอเตอร์และแพไว้ในโรงเก็บพัสดุ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างจะได้เข้ามาดูในเรื่องของการซ่อมแซมเพื่อจะได้ให้ทางท้องถิ่นจัดเข้าแผนคีย์ข้อมูลในระบบเสนอของบประมาณในการซ่อมแซมต่อไป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะต้องใช้เงินงบประมาณในการซ่อมแซมประมาณ 3 ล้านบาทเศษรวมทั้งตัวระบบสูบน้ำทั้งหมด
นายอดุลย์ วันดี ผอ.สนง.ป.ป.ช.ประจำ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนและคณะตรวจสภาพดูแล้วพบว่าไม่สามารถใช้งานได้จะต้องมีการซ่อมแซมปรับปรุง ตอนนี้ทางเทศบาลตำบลส้มป่อยกับชลทานศรีสะเกษได้มีการเจรจาพูดคุยกัน จะทำการสำรวจว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนเท่าไหร่ในการที่จะซ่อมแซม เบื้องต้นนี้ทางชลประทานศรีสะเกษรับปากว่าจะตั้งงบประมาณมาใช้ในการปรับปรุงซ่อมแซมดูแลเรื่องนี้เพื่อให้สามารถใช้งานได้ ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้นนี้ ทาง ป.ป.ช.ประจำ จ.ศรีสะเกษจะทำการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แต่ว่าหลังจากนี้ก็จะทำการพูดคุยกับทางชลประทานศรีสะเกษก็คงจะให้เชิญทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีแพและเครื่องสูบน้ำอยู่ในพื้นที่มาพูดคุยกันและหาแนวทางที่จะแก้ไขอย่างยั่งยืนว่ากระบวนการของบประมาณในเรื่องนี้จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนและทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนเพื่อให้โครงการที่ออกมาตอบโจทย์แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนไม่สร้างปัญหาอีกต่อไป ซึ่งทางชลประทานศรีสะเกษจะได้นำเอาเครื่องจักรมาลากเอาแพขึ้นไปเก็บเอาไว้ แล้วจะได้พูดคุยพร้อมทั้งจะทำการสำรวจว่าจะต้องใช้งบประมาณซ่อมแซมจำนวนเท่าไหร่ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์ให้เกิดประโยชนสูงสุดกับประชาชนในเขตพื้นที่นี้ต่อไป