เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



มหาดไทย ผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีป้าย ลดภาระปชช. สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ


8 เม.ย. 2567, 17:04



มหาดไทย ผลักดันแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีป้าย ลดภาระปชช. สอดคล้องสภาพเศรษฐกิจ




วันนี้ ( 8 เม.ย.67 ) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เป็นนโยบายที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทยให้ความสำคัญและขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

โดยล่าสุดได้ผลักดันการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ซึ่งบังคับใช้มาเป็นเวลานานไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อปรับปรุงกระบวนการจัดเก็บภาษีป้ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชาชน ไม่ว่าจะเป็นการรับ - ส่งเอกสารต่างๆ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย การยื่นคำร้องต่างๆ การแจ้งประเมินภาษีป้าย การยื่นอุทธรณ์ภาษีป้าย และการขอรับเงินคืน สามารถดำเนินการในรูปแบบผ่านอิเล็กทรอนิกส์ได้  ซึ่งจะช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการให้มีความทันสมัย และให้ประชาชนเข้าถึงการบริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

โดยการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้กับยกเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีป้าย (ฉบับที่...) พ.ศ....ซึ่งขณะนี้ รมว.มหาดไทย ได้ลงนามแล้วอยู่ระหว่างการนำเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อบรรจุเป็นวาระพิจารณาของ ครม. และเมื่อผ่านแล้วจะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และจะมีผลบังคับใช้เมื่อผ่านกระบวนการตามกฎหมายและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สาระสำคัญที่ได้รับการแก้ไขในร่าง พ.ร.บ.ภาษีป้ายฯ มีหลายประเด็นที่จะทำให้ประชาชาชนได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น  เช่น กรณีป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงป้ายไม่ตลอดทั้งปี ให้เสียภาษีตามระยะเวลาที่ติดตั้งหรือแสดง โดยคิดภาษีเป็นรายเดือน  เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งปี แตกต่างจากปัจจุบันที่การจัดเก็บภาษีป้ายเป็นการจัดเก็บภาษีล่วงหน้าทั้งปี การแก้ไขกฎหมายจะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีตามหลักการเสียภาษี “ได้เท่าไหร่ เสียเท่านั้น”

มีการกำหนดอัตราเงินเพิ่มในกรณีที่ไม่ชำระภาษีภายในกำหนด โดยให้เสียเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน แต่ไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องเสีย จากปัจจุบันที่จะต้องเสียเงินเพิ่มจนกว่าจะชำระภาษีครบ ซึ่งจะช่วยให้ไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร  มีการกำหนดประเภทป้ายใหม่จาก 3 ประเภทเป็น2 ประเภท และปรับเพดานอัตราภาษีป้ายให้เหมาะสมกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยอ้างอิงเงินเฟ้อ รวมทั้งจีดีพีที่เปลี่ยนแปลงไป

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ยังได้กำหนดให้มีการลดภาษีป้ายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่โดยตราเป็นกฎกระทรวงได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่ต้องเสีย เพื่อเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนในกรณีที่เกิดสถานการณ์ไม่ปกติขึ้น เทียบกับปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติเรื่องให้ลดภาษีเอาไว้ และยังให้อำนาจ ผู้บริหารท้องถิ่นหรือ รมว.มหาดไทย สามารถประกาศขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กรณีเกิดเหตุสาธารณภัยต่างๆ รวมถึงขยายระยะเวลาชำระภาษีเป็น 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน จากปัจจุบันที่ต้องชำระภาษีป้ายภายใน 15วัน ซึ่งทั้งหมดเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการชำระภาษีของประชาชน

“ท่านอนุทิน ให้ความสำคัญอย่างมากกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อจะเพิ่มความสะดวกในการติดต่อกับหน่วยงานในกำกับของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเรื่องนี้นอกจากจะช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกเป็นธรรมในการเสียภาษีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของ อปท. ที่จะมาจากภาษีป้ายให้สามารถนำไปพัฒนาท้องถิ่นได้มากขึ้นด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว 









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.