วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีอุทุมพรพิสัย มอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษา 1,050 คน พร้อมจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
6 มี.ค. 2567, 05:09
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่หอประชุมบุญส่งมา วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีอุทุมพรพิสัย อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 โดยในปีนี้มีผู้จบการศึกษาตามหลักวิชาชีพ(ปวช.) วิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) รวมจำนวน 900 คน และระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 150 คน รวมเป็น 1,050 คน โดยได้รับความเมตตาจาก พระครูโกศลสิกขกิจ หรือหลวงพ่อพุฒ วายาโม ประธานมูลนิธิหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีหลวงปู่สรวงวัดไพรพัฒนา เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ (ธ.) และเจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนา เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ซึ่งหลังจากการมอบประกาศนียบัตรแล้ว นายชัยรัตน์ ฉัตรศุภกุล ผอ.สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 38 ศรีสะเกษ ได้มอบใบรับรองให้ผู้ที่ผ่านการทดสอบความรู้ผู้ที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อเป็นการรับรองออกไปสู่ตลาดแรงงานอย่างภาคภูมิใจ และเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและตลาดแรงงานเป็นอย่างดี โดยมี นายบุญมา นวลสาย ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีอุทุมพรพิสัย เป็นผู้กล่าวรายงานและนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ คณะครู พ่อค้า ประชาชน ผู้สำเร็จการศึกษามาให้การต้อนรับและร่วมพิธีในครั้งนี้จำนวนมาก
นายบุญมา นวลสาย ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีอุทุมพรพิสัย กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีอุทุมพรพิสัย ได้จัดการศึกษามุ่งเน้นให้แก่ผู้เรียน ดังนี้ 1. จัดการศึกษาแบบให้เปล่า โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ในระดับวิชาชีพ(ปวช.) ตลอดหลักสูตร 3 ปี 2. จัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี โดยมุ่งเน้นให้มีรายได้ระหว่างเรียนในรูปแบบเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย 3. จัดการศึกษาในรูปแบบเชิงปฏิบัติงาน โรงเรียนเป็นโรงงาน โรงงานเป็นโรงเรียน เปิดโอกาสให้บริษัท/ห้างร้าน หน่วยงานราชการ และเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ตรงตามความประสงค์ตลาดแรงงานได้เป็นอย่างดี สร้างอาชีพให้นักศึกษามีงานทำ มีเงินใช้ มีเงินเก็บ สามารถเลี้ยงตนเอง และครอบครัวได้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาจุลมณีอุทุมพรพิสัย ได้ตกลงร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 38 ศรีสะเกษ ได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ได้ทดสอบความรู้ผู้ที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) และระดับวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) เพื่อรับรองออกไปสู่ตลาดแรงงานอย่างภาคภูมิใจ และเป็นที่ยอมรับของผู้ปกครองและตลาดแรงงานเป็นอย่างดี ผู้ปกครองเห็นความสำคัญ ได้ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี ได้ยกฐานะเป็นวิทยาลัยขนาดใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ตลอดมา ในปีนี้มีผู้จบการศึกษาตามหลักวิชาชีพ (ปวช.) วิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมจำนวน 900 คน และระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 จำนวน 150 คน รวมเป็น 1,050 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากพิธีมอบประกาศนียบัตรแล้ว บรรดาผู้ที่สำเร็จการศึกษาได้นำเอาใบประกาศนียบัตรไปให้พ่อแม่ญาติพี่น้องได้ชื่นชม ซึ่งได้มีการนำเอาช่อดอกไม้ พวงมาลัยมามอบให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาเพื่อเป็นการแสดงความยินดี บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักมาก