เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



กรมชลประทาน-สทนช.มูลนิธิสืบฯ เตรียมประชุมถกแก้ปัญหาโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วยภัยแล้ง จ.กาญจน์


14 ก.พ. 2567, 16:28



กรมชลประทาน-สทนช.มูลนิธิสืบฯ เตรียมประชุมถกแก้ปัญหาโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำช่วยภัยแล้ง จ.กาญจน์




 

 

จากกรณี กรมชลประทานและสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ อ.บ่อพลอย อ.หนองปรือ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวนั้นเป็นพื้นที่เงาฝนหรือ(rain shadow) จึงมีปริมาณฝนตกน้อยมาก การศึกษาความเหมาะสมโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่จะผันน้ำปีละ 378 ล้านลูกบาศก์เมตร เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2564

 

 สำหรับโครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์มี 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณตำบลวังด้งไปอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย) ขนาดอุโมงค์ 4.20 เมตร ความยาว 20.500 กิโลเมตร อัตราผันน้ำวันละ 1.036 ล้าน ลบ.ม. พร้อมวางคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ฝั่งตะวันตกของลำตะเพิน ในเขตอำเภอบ่อพลอย

 

ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย) ถึงบ่อพักน้ำหลุมรัง ท่อส่งน้ำเหล็กเหนียว ขนาด 2.50 เมตร ความยาว 14.195 กิโลเมตร

ระยะที่ 3.โครงการก่อสร้างบ่อพักน้ำหลุมรังขนาด 651 ไร่ ความลึกน้ำ 4.00 เมตร ความจุบ่อพักน้ำ 3.70 ล้าน ลบ.ม.

 

และ ระยะที่ 4.โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรังไปพื้นที่รับประโยชน์ ประกอบด้วยคลองสายหลักเป็นคลองดาดคอนกรีตยาว 94.165 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำสายซอยจำนวน 42 สาย ระยะทางรวมกัน 314 กิโลเมตร

 

โดยเมื่อวันที่ 29 ม.ค.67 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ได้มีหนังสือเชิญให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่บริเวณหัวงานดำเนินโครงการขุดเจาะปากอุโมงค์ที่หน่วยพิทักษ์ป่าแม่ละมุ่น รวมทั้งดูแนวรั้วไฟฟ้าป้องกันช้างป่าแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และดูพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำลำอีซู หัวงานปลายอุโมงค์ และพื้นที่จัดการวัสดุปลายอุโมงค์ ในวันที่ 13 ก.พ.2567 โดย 1 ในนั้นมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร รวมอยู่ด้วย

 

วันนี้ 14 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า วานนี้ 13 ก.พ.67 ผมพร้อมด้วยนางสาวอรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ตามคำเชิญของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลตามที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีข้อคัดค้านโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ด้านตะวันออกของอ.บ่อพลอย พื้นที่ อ.ห้วยกระเจา และ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี

 

สทนช.เสนอจะผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ไปตามท่อส่งน้ำที่เป็นอุโมงค์ ขนาด 4.20 เมตร เจาะทะลุจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่ละมุ่นด้านตะวันตก ผ่านกลางป่าสลักพระระยะทางประมาณ 20.53 กม. ไปออกที่หน่วยพิทักษ์ป่าลำอีซู ซึ่งอยู่ด้านตะวันออก โดยการดำเนินโครงการจะต้องระเบิดเปิดพื้นที่หัวงานและท้ายงานเพื่อติดตั้งเครื่องเจาะด้านละประมาณ 50 ม. ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นจึงใช้เครื่องเจาะผ่านใต้พื้นที่ป่าสลักพระซึ่งเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนตอนบนของตัวทุ่งนามอญพื้นที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่า ระยะเวลาเตรียมการ 2 ปี ก่อสร้างประมาณ 5 ปี งบประมาณรวมกว่า 50,000 ล้านบาท

 

เบื้องต้นมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความเห็นในการหารือครั้งนี้ 3 ประเด็น คือ 1. มูลนิธิสืบฯ ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาคัดเลือกทางเลือกในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งเดิมกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  ได้เคยเสนอให้โครงการฯศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผืนป่าสลักพระ โดยพิจารณาเลือกเส้นทางอ้อมลงด้านล่างของเขตฯสลักพระ แม้ ระยะทางเพิ่มมากขึ้น แต่จะลดผลกระทบกับสัตว์ป่าในพื้นที่ได้

 

 2. ข้อกังวลที่กิจกรรมการก่อสร้างจะกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันสัตว์ป่าในเขตฯสลักพระ มีการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าโดยธรรมชาติเอง และการปล่อยสัตว์ป่าที่เคยมีอยู่ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ  เช่น ละมั่ง วัวแดง จนเกิดความอุดมสมบูรณ์ จากการมีส่วนร่วมการทำงานของหน่วยงานต่างๆช่วยสนับสนุน และประชาชนในพื้นที่เองมาช่วยกันดูแลพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของเขตฯสลักพระ

 

 ซึ่งด้านบนของเขตฯสลักพระ ติดกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์และอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ เชื่อมต่อกับป่าทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้งทางด้านบน ทำให้มีสัตว์ป่าเดินทางเคลื่อนย้ายไปมาในผืนป่าตะวันตกตอนล่างแห่งนี้อย่างเช่น เสือโคร่ง ช้างป่า กระทิง

 

 กิจกรรมการระเบิดและขุดเจาะใต้ดิน อาจจะส่งผลต่อสัตว์ป่า รวมถึงจะเพิ่มปัญหาสัตว์ป่าเช่นช้าง ที่จะออกไปนอกพื้นที่ป่าจนเป็นปัญหากับชุมชนบริเวณนั้นมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษาร่วมกับ สทนช.ได้ช่วยให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามครั้งนี้เป็นอย่างดีเข้าใจถึงความพยายามจะลดผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

 

 และ 3. แต่เนื่องจากยังมีประเด็นข้อคิดเห็นต่าง รวมถึงข้อเสนอแนะ ที่ต้องใช้เวลารวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลให้ชัดเจน มูลนิธิสืบฯ จึงเสนอให้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนกรมอุทยานฯ เพื่อนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนอีกครั้ง เช่น มิติความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทางเลือกในการจัดการน้ำและการทำเกษตรที่เหมาะสมในพื้นที่ ฯลฯ โดยเบื้องต้นนัดหมายกันที่ สทนช. ต้นเดือน มี.ค. นี้

 

สำหรับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย ประกาศเมื่อปี 2508  พื้นที่รวมประมาณ 536,594 ไร่ เป็นหนึ่งในกลุ่มพื้นที่อนุรักษ์ที่ต่อเนื่องกันเป็นป่าผืนใหญ่ ที่เรียกว่า ผืนป่าตะวันตก

 



 


 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.