เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ม.วลัยลักษณ์ จับมือ บริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด เอ็มโอยูพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา


6 ก.พ. 2567, 14:50



ม.วลัยลักษณ์ จับมือ บริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด เอ็มโอยูพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา




  ม.วลัยลักษณ์ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนานักศึกษาและบุคลากร กับบริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด (Google Cloud Partner - Specialisation Education) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ รองอธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ดร. ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวนาท นันทพิชัย ผู้อำนวยการศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายพุทธรักษ์ มูลเมือง ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด ลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากรและนักศึกษาร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมเขาหลวง อาคารสหกิจศึกษา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา

  บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือด้านการพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ ทั้งด้านการพัฒนานักศึกษาและบุคลากรในด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการเรียนการสอนของทั้งสองหน่วยงาน  รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฝึกอบรม เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการ วิชาชีพ และส่งเสริมกิจกรรมให้แก่หน่วยงานภาคีเครือข่าย รวมทั้งการเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความตระหนักด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ประเทศชาติอย่างยั่งยืน

  รองศาสตราจารย์ ดร.จรัญ บุญกาญจน์ กล่าวว่า ม.วลัยลักษณ์ภายใต้การนำของศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดีให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก ม.วลัยลักษณ์ มีศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาและหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำงานร่วมกันเพื่อดูแลและขับเคลื่อนการพัฒนาให้มหาวิทยาลัยเป็นองค์กรสมรรถนะสูงในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการพัฒนาศักยภาพนักบริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยให้มีความรู้ความเข้าใจในบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค Disruptive World และการปรับตัวของมหาวิทยาลัยในยุค Digital Transformation ซึ่งมีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัยในเกือบทุกมิติ และให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนการสอน ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย การสอนให้ผู้เรียนมีทักษะในด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์สาขาวิชาตลอดหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษามีคุณสมบัติที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ทั้งทักษะความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะทักษะ Soft skill ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมีสมรรถนะและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาองค์กร สังคมและประเทศชาติต่อไป 

  ดร. ศุภธิดา พรหมพยัคฆ์  กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของความตั้งในในการลงนาม MOU ในครั้งนี้ สืบเนื่องจาก บริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเทรนเนอร์ให้วงการศึกษาไทยมาตั้งแต่ยุค 1G จนมาถึงยุคดิจิทัลหรือยุคเอไอในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่มีเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและน่าตื่นเต้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นส่วนที่จะช่วยเติมเต็มหรือติดอาวุธให้ผู้เรียน เป็นเครื่องมือในการพัฒนาให้บุคลากรให้มีทักษะความรู้เพิ่มเติมและมีสมรรถนะของโลกยุคใหม่ ด้วยองค์ความรู้หรือบทเรียนที่หาเรียนได้ยากและสอนโดยผู้เชี่ยวชาญ สิ่งที่นักศึกษาและบุคลากรจะได้รับไม่ใช่แค่เกียรติบัตรหรือความรู้ แต่ผู้ผ่านการอบรมจะได้ 3 ทักษะที่องค์กรมองหา คือ 1) ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะโลกการทำงานในปัจจุบัน องค์กรไม่ได้ต้องการแค่คนที่มีความรู้ แต่ต้องการคนที่มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งที่ยังไม่รู้ 2) วินัย  และ3) การมีทักษะในการบริหารจัดการเวลา เหล่านี้จะเป็นทักษะที่บ่งบอกถึงความสำเร็จและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของบัณฑิตยุคใหม่ที่องค์กรต้องการ ซึ่งเราอยากทำงานอย่างต่อเนื่องในด้านการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเพื่อ เสริมสร้างทักษะหรือสมรรถนะเหล่านี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดและจะอยู่เคียงข้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการพัฒนาบุคลากรต่อไป

  ทั้งนี้ บริษัท ดิ เอสเคิร์ฟ จำกัด เป็นพาร์ทเนอร์รายแรกของไทย ที่ได้รับการรับรองจาก Google อย่างเป็นทางการ ในการดูแลระบบ Google Workspace และได้รับมอบหมายจาก Google (ประเทศไทย) ในการทำโครงการเพื่อสนับสนุน Education Transformation และ สร้าง Digital Talent ในเมืองไทย พร้อมได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญพิเศษด้านการศึกษา (Specialisation Education) และได้รับรางวัลพาร์ทเนอร์ดีเด่น ด้านการศึกษา ประจำปี 2564 – 2565 ด้วยภารกิจในการจัดหาแนวทางต่าง ๆ ผ่านการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมไปถึง การให้คำปรึกษา และการฝึกอบรม









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.