ปภ.ประสานทุกจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกัน-แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567
16 ม.ค. 2567, 16:18
วันนี้ ( 16 ม.ค.67 ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ประสานทุกจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567 ทั้งการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อวิเคราะห์และประเมินแนวโน้มการเกิดภัยแล้งในพื้นที่ ทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ รวมถึงวางแผนการบริหารจัดการน้ำ กำหนดแนวทางการระบายน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ อีกทั้งเตรียมสรรพกำลังและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมช่วยเหลือประชาชน ตลอดจนกำชับจังหวัดสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและทุกครัวเรือนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาพอากาศร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 ปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ ส่วนภาคใต้ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติ โดยคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูร้อน ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้มีข้อสั่งการให้ บกปภ.ช. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2567 ให้สอดคล้องกับมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 โดยให้จังหวัดจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า ปริมาณฝน และปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำ รวมถึงวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงการเกิดภัยแล้งในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อำนวยการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทบทวนและจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ ควบคู่กับการแบ่งมอบพื้นที่และภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องครอบคลุมถึงระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน/ชุมชน รวมถึงสำรวจพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน ที่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม ตลอดจนใช้กลไกของคณะกรรมการ/คณะอนุกรรมการจังหวัด วางแผนการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศ น้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงกำหนดแนวทางการระบายน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้เพียงพอ สำหรับการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรให้ดำเนินการตามแนวทางการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2566/67 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เกษตร เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย เพื่อกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด
นายไชยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จึงได้ประสานจังหวัดเตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากหน่วงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง นอกจากนี้ ได้กำชับให้จังหวัดสร้างการรับรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะข้อมูลสถานการณ์น้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด และทุกครัวเรือนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง รวมถึงป้องกันปัญหาการแย่งชิงน้ำ อีกทั้งส่งเสริมให้อาสาสมัครในพื้นที่มีส่วนร่วมในการซ่อมสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ ซ่อมแซมภาชนะเก็บน้ำ เพื่อให้ชุมชนมีน้ำสำรองไว้ใช้อย่างต่อเนื่อง
ท้ายนี้ ประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป