ปธ.กมธ.วิสามัญฯ แก้ปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิญโญ เผยแล้ง ปี 67 เกษตรกรลุ่มน้ำแม่กลอง ไม่น่าห่วง
8 ม.ค. 2567, 17:41
วันนี้ 08 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่เขื่อนแม่กลอง ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิญโญ พร้อมด้วยนายนิติพล ผิวเหมาะ รองประธานคณะกรรมาธิการ (คนที่ 1) นายสฤษดิ์ บุตรเนียร รองประธานคณะกรรมาธิการ (คนที่ 3) นายวิชัย สุดสวาสดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (คนที่ 5)
นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ รองศาสตราจารย์วิษณุ อรรถวานิช ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ รวมทั้งคณะกรรมาธิการ ข้าราชการรัฐสภาและเจ้าหน้าที่ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เดินทางมารับฟังบรรยายสรุปกับแผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนแม่กลองเพื่อนำไปวางแผนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปภคบริโภคและการเกษตร
โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ ฤทธิสมิต ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13 นายอำนาจ ชูวงษ์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา นายสันติศักดิ์ ศรีวารินทร์ ผอ.ส่วนวิศวกรรม นายประศาสตร์ สุขอินทร์ ผอ.โครงการชลประทานกาญจนบุรี รวมทั้ง ผอ.โครงการชลประทานลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 8 จังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารสำนักงานชลประทานที่ 13 เข้าร่วมประชุม
โดยนายนายอำนาจ ชูวงษ์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา กล่าวรายงานว่า สำหรับแม่น้ำแม่กลองมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 30,837 ตารางกิโลเมตร หรือ 19.45 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม บางส่วนของสุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 7,973 ล้านลูกบาศก์เมตร
ลุ่มน้ำแม่กลองแบ่งออกเป็นลุ่มน้ำย่อย 14 ลุ่มน้ำย่อย ได้แก่ แม่น้ำแควใหญ่มีพื้นที่ 1,445 ตารางกิโลเมตร, ห้วยแม่ละมุง 910 ตารางกิโลเมตร, ห้วยแม่จัน 862 ตารางกิโลเมตร, แม่น้ำแควใหญ่ตอนกลาง 3,380 ตารางกิโลเมตร, แม่น้ำแควใหญ่ตอนล่าง 4,094 ตารางกิโลเมตร, ห้วยขาแข้ง 2,320 ตารางกิโลเมตร, ห้วยตะเพียน 2,627 ตารางกิโลเมตร, แม่น้ำแควน้อยตอนบน 3,947 ตารางกิโลเมตร), ห้วยเขย่ง 1,015 ตารางกิโลเมตร, ห้วยแม่น้ำน้อย 947 ตารางกิโลเมตร), ห้วยบ้องตี้ 477 ตารางกิโลเมตร, แม่น้ำแควน้อยตอนกลาง 2,042 ตารางกิโลเมตร, แม่น้ำภาชี 2,453 ตารางกิโลเมตร และทุ่งราบแม่น้ำแม่กลอง 4,318 ตารางกิโลเมตร
สำหรับโครงการผันน้ำผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง อ.ห้วยกระเจา อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองไปช่วยลุ่มน้ำท่าจีนศึกษาความเหมาะสมโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผันน้ำปีละ 378 ล้านลูกบาศก์เมตร และเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2564
งานที่ดำเนินการ 1.อุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ไปยังอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย)ขนาดอุโมงค์ 4.20 เมตร ความยาว 20.500 กิโลเมตร อัตราผันน้ำวันละ 1.036 ล้าน ลบ.ม.2.ระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำอีซู (ขยาย)ถึงบ่อพักน้ำหลุมรัง ท่อส่งน้ำเหล็กเหนียว ขนาด 2.50 เมตร ความยาว 14.195 กิโลเมตร 3.บ่อพักน้ำหลุมรังขนาด 651 ไร่ ความลึกน้ำ 4.00 เมตร ความจุบ่อพักน้ำ 3.70 ล้าน ลบ.ม.และ 4.ระบบส่งน้ำจากบ่อพักน้ำหลุมรังไปยังพื้นที่รับประโยชน์ประกอบด้วยคลองสายหลักเป็นคลองดาดคอนกรีตยาว 94.165 กิโลเมตร และท่อส่งน้ำสายซอยจำนวน 42 สาย ระยะทางรวมกัน 314 กิโลเมตร
ส่วนการบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษาแหล่งน้ำต้นทุน ซึ่งจังหวัดกาญจนบุรีมีแหล่งน้ำต้นทุน 2 เขื่อน คือแหล่งน้ำต้นทุนเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ ระดับเก็บกัก 180.00 เมตร (รทก.)ความจุที่ระดับเก็บกัก 17,745 ล้าน ลบ.ม.ความจุที่รับต่ำสุด 10,265 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำใช้การ 7,480 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำใช้การได้ ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 ม.ค.67 จำนวน 4,324 ล้าน ลบ.ม.หรือ 57.81%
และ 2 แหล่งน้ำต้นทุนเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ ระดับเก็บกัก 155.00 เมตร (รทก.)ความจุระดับเก็บกัก 8,860 ล้าน ลบ.ม.ความจุที่ระดับต่ำสุด 3,012 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำใช้การ 5,848 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำใช้การ ข้อมูลวันที่ 4 ม.ค.67 จำนวน 4,493 ล้าน ลบ.ม.หรือ 76.83%
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ ฤทธิสมิต ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 13 (ชป.13)กล่าวว่า แผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานปี 2567 ด้วยกรมชลประทาน โดยสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา ได้แจ้งแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานปี 2567 พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.2567 ซึ่งคาดการณ์น้ำต้นทุนของเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ ในช่วงฤดูแล้งมีปริมาณน้ำใช้การได้ รวมประมาณ 9233 ล้านลูกบาศก์เมตร วางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งไว้ทั้งหมด 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
แยกเป็นเพื่อการเกษตร 3180 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภค- บริโภค 460 ล้านลูกบาศก์เมตร และรักษาระบบนิเวศรวมทั้งอื่นๆ 1360 ล้านลูกบาศก์เมตร สนับสนุนการเพาะปลูกประมาณ 2.07 ล้านไร่ ประกอบไปด้วย ข้าวนาปรัง 0.84 ล้านไร่ พืชไร่ - พืชผัก 0.17 ล้านไร่ และอื่นๆ 1.06 ล้านไร่ ประกอบด้วยอ้อย 0.46 ล้านไร่ ไม้ผล - ไม้ยืนต้น 0.33 ล้านไร่ บ่อปลา - บ่อกุ้ง และอื่นๆ 0.27 ล้านไร่
เพื่อให้การส่งน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค เพื่อการเพาะปลูกและกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 13 เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ สอดคล้องกับสภาพน้ำต้นทุนในปัจจุบัน สำนักงานชลประทานที่ 13 จึงได้แจ้งแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทานปี 2567 เพื่อขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยประชาสัมพันธ์แผนการบริหารจัดการน้ำดังกล่าว ให้เกษตรกรในพื้นที่รับทราบไปแล้ว
ด้านนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ เปิดเผยภายหลังว่า จากการนำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิญโญ มาศึกษาดูงานและรับฟังการบรรยายในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีระหว่างวันที่ 7-8 ม.ค.รวม 3 พื้นที่ ประกอบด้วยพื้นที่อำเภอเลาขวัญ พื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ และเขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง ซึ่งปัญหาในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีน้ำผิวดินหรือน้ำในระบบชลประทาน ปีนี้พบว่าไม่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องภัยแล้ง เพราะว่ามีน้ำต้นทุนจากเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ ที่เพียงพอให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ส่วนพื้นที่ที่อยู่ในโซนแล้ง เช่น อ.เลาขวัญ อ.ห้วยกระเจา ส่วนหนึ่งมีการใช้น้ำในระบบประปาบาดาลเป็นน้ำต้นทุนบางส่วนก็ใช้น้ำผิวดินเท่าที่มีอยู่
คิดว่าปีที่ผ่านมากับปัญหาเอลนิญโญเมื่อเทียบกับปี 67 จะไม่ส่งผลกระทบกับจังหวัดกาญจนบุรีมากนัก เช่นเดียวกับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองก็คงจะไม่มีปัญหาเช่นกัน เพราะเรามีน้ำต้นทุนที่เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามอยากจะฝากไปถึงเกษตรกรในช่วงหน้าแล้งนี้ว่าทุกคนจะต้องช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เพราะถ้าเราใช้น้ำกันอย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่เกิดประโยชน์ มันก็จะไปแย่งน้ำของผู้ที่รออยู่ เช่นผู้ที่อยู่ต้นน้ำใช้น้ำมากเกินความจำเป็น จะทำให้ผู้ที่อยู่ปลายน้ำไม่ได้ใช้น้ำที่พอควร เป็นต้น