รองโฆษกฯ เผย! "ก.ทรัพยากรฯ-ก.เกษตรฯ" จับมือร่วมแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ
20 ธ.ค. 2566, 08:45
วันนี้ (20 ธ.ค. 66) น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เชิญ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมหารือร่วมประชุมถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยได้กำหนดแนวทางและเร่งรัดการขับเคลื่อนตามมาตรการ แก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งตั้งเป้าหมายลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรมลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ อาทิ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดตาก และจังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น และพื้นที่อื่น ๆ ลดลงร้อยละ 10
น.ส.เกณิกา กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยจะต้องเตรียมการวางแผนล่วงหน้า ระบุพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน สร้างกลไกการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีภาคเอกชนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ กำหนดกลไก การทำงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีความชัดเจน และสอดคล้องกับกลไกของคณะกรรมการระดับชาติ
น.ส.เกณิกา ยังกล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเป็นหน่วยงานหลัก ที่เน้นการดำเนินงานเชิงรุกและเชิงรับ ภายใต้หลักการ 3R คือ 1. Re-Habit : ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผาในทุกขั้นตอนการผลิต 2. Replace with high value crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นที่สูง ให้เป็นการปลูกพืชที่ปลอดการเผาและลดการบุกรุกป่า จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่มีมูลค่าสูง อาทิ กาแฟ มะคาเดเมีย อะโวคาโด มะม่วง เป็นต้น เพื่อสร้างรายได้จากพืชที่มีมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน และ 3.Replace with Alternate crops : ปรับเปลี่ยนพืชบนพื้นราบ จากพื้นที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวปรับไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้หมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ ลดใช้น้ำ ปลูกพืชแบบปลอดการเผา บริหารจัดการผลผลิตตลอดจนการจำหน่าย
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ( PM2.5) ภาคการเกษตร โดยมี ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายมาตรการ และแนวทางการขับเคลื่อนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตร รวมถึงพิจารณาระบบการบริหารจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ภาคการเกษตรทั้งระบบได้อย่างยั่งยืน