ปปป. จากส่วนกลาง เข้าตรวจสอบท่าเทียบเรือสะพานปลาระนอง หลังได้รับร้องเรียนการก่อสร้างส่อทุจริต
16 ต.ค. 2562, 16:28
เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า พ.ต.อ.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ รองผู้บังคับการกองกำกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (รอง ผบก.ปปป.) พร้อมเจ้าหน้าที่ ปปป. จากส่วนกลางเข้าตรวจสอบโครงการบำรุงสุขอนามัยองค์การสะพานปลา ที่มีการก่อสร้างอาคาร จำนวน 2 แห่งและโรงบำบัดน้ำเสีย จำนวน 1 แห่ง โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างปี 2557-2559 จำนวน 263 ล้านบาท โดยมี นายธีระศักดิ์ จิตวิบูลย์ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานท่าเทียบเรือประมงระนอง พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ นำเข้าตรวจสอบจุดที่มีการก่อสร้างทั้ง 3 จุด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายการปราบปรามการทุจริต ในพื้นที่ ม.1 ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง
พ.ต.อ.วัชรินทร์ กล่าวว่า ในวันนี้ได้นำเจ้าหน้าที่กองกำกับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เข้าทำการตรวจสอบพื้นที่ขององค์การท่าเทียบเรือสะพานปลา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางกองบังคับการฯ ได้รับการร้องเรียนจากผู้อำนวยการองค์การสะพานปลาให้เข้าตรวจสอบการก่อสร้าง ประกอบด้วย 1. โรงและอาคารบำบัดน้ำเสีย 2. อาคารแช่แข็งอาหารทะเลสำหรับเตรียมส่งออก และ 3. อาคารสำหรับประมูลสัตว์น้ำจากเรือประมง ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และมีการส่งมอบกันเมื่อเดือนเมษายน 2561 แต่ยังอยู่ในช่วงประกันงานจากบริษัทผู้รับเหมาคือ บริษัทรัฐภูมิค้าไม้ ( จ.สงขลา ) เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนไปคือการก่อสร้างทั้ง 3 แห่ง ไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์หลายอย่างเช่นระบบการบำบัดน้ำเสีย อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์การเดินน้ำใช้สำหรับใช้ล้างสัตว์น้ำ ห้องน้ำ อาคารหรือห้องสำหรับให้ผู้ประกอบการเข้ามาเช่าใช้เพื่อดำเนินการในการค้าขายสัตว์น้ำไม่สามารถใช้การได้ นอกจากนี้ยังมีเครนจำนวน 10 ตัว ที่อยู่บริเวณหน้าท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาที่สำหรับใช้ยกสัตว์น้ำจากเรือประมงขึ้นมาบริเวณจุดประมูลปลา สามารถใช้จริงได้เพียง 4 ตัว จาก 10 ตัว ตั้งแต่วันที่มีการเซ็นต์รับมอบงานจากผู้รับเหมา ซึ่งปัญหาทั้งหมดเกิดตั้งแต่การก่อสร้าง จนถึงขั้นตอนการส่งมอบต่อคณะการตรวจสอบ โดยจากการตรวจสอบเมื่อเห็นจากสภาพของจริงและคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ท่าเทียบเรือองค์การสะพานปลาระนอง ที่ไม่สามารถจะใช้งานได้ ก็พอจะทราบแล้วว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการตรวจสอบจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. ตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาว่าคุณสมบัติในการทำงานด้านดังกล่าวหรือไม่ 2. วิศวะกรผู้ควบคุมงานมีการดูแลงานทุกขั้นตอน และมีการตรวจงานทุกครั้งที่มีการส่งมอบงานจากบริษัทผู้รับเหมาในแต่ละช่วงหรือไม่ 3. ตรวจสอบผู้ร่วมตรวจงานที่ลงนามให้กับผู้รับเหมาให้งานผ่านแต่ละครั้งว่ามีความถูกต้องหรือไม่ และหลังจากนี้จะได้ทำหนังสือเชิญบริษัทผู้รับเหมาเข้าทำการสอบสวนที่ส่วนกลาง เพื่อประกอบรูปคดี
พ.ต.อ.วัชรินทร์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์นี้ทางกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและการประพฤติมิชอบ ได้เริ่มตรวจสอบโครงการในลักษณะดังกล่าวที่จังหวัดระนองเป็นแห่งแรก เนื่องจากมีการใช้งบประมาณที่สูงกว่าปกติ และมีการส่งมอบงานกันเรียบร้อย โดยได้มีการร้องเรียนโดยตรงจากผู้อำนวยการท่าเทียบเรือในส่วนกลาง ซึ่งในภาคใต้ยังมีอีกหลายจังหวัดที่ติดทะเลมีการก่อสร้าง แต่ยังไม่เสร็จทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยจำนวนหลายจังหวัดจากทั้งบริษัทผู้รับเหมาดังกล่าวและผู้รับเหมารายอื่น หากพบมีการทุจริตโครงการจะรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายทั้งหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากเป็นงบประมาณของแผ่นดินเป็นเงินภาษีของคนไทย