จนท.อช.หมู่เกาะสุรินทร์ ช่วยเต่าตนุจากลอบ ก่อนปล่อยกลับสู่ทะเลอย่างปลอดภัย
26 ต.ค. 2566, 17:29

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ออกตรวจลาดตระเวนทางทะเลพบเต่าตนุ กำลังติดเครื่องมือประมง(ลอบ) ซึ่งเป็นขยะลอยน้ำเข้ามาในเขตอุทยานฯ จึงเข้าช่วยเหลือและปล่อยกลับสู่ทะเล
เต่าตนุ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Chelonia mydas ลำตัวมีลักษณะ คือ กระดองจะมีสีน้ำตาลแดงอมเขียวตามขอบกระดอง ขามีสีเหลืองอ่อน กระดองมีลายเส้นสีน้ำตาลเป็นแฉกคล้ายลำแสงอาทิตย์ จึงเรียกอีกชื่อว่า เต่าแสงอาทิตย์ เมื่อเต่าตนุโตเต็มวัย อาจมีน้ำหนักถึง 200 กิโลกรัมและมีอายุยืนถึง 80 ปี อาหารของเต่าตนุจะกินได้ทั้งพืชอย่างสาหร่ายหรือสัตว์อย่างแมงกะพรุน ทำให้บางครั้งอาจกินถุงพลาสติกเข้าไปเพราะคิดว่าคือแมงกะพรุนที่เป็นอาหาร หรือติดอยู่ในซากเครื่องมือประมงประเภทต่างๆที่ถูกทิ้งอย่างมักง่าย
การทิ้งขยะลงทะเล จึงเป็นสาเหตุสำคัญในการทำร้ายเต่าทะเล โปรดช่วยกันไม่ทิ้งขยะทุกประเภทลงสู่ทะเล #ร่วมด้วยช่วยกัน #savetheseaturtles
.
ขอบคุณ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ - Mu Ko Surin National Park
ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช , ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช