กมธ.การทหาร เชิญกองทัพเรือหารือ 26 ต.ค.นี้ ปมยกเลิกการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน
25 ต.ค. 2566, 15:25
วันนี้ (25 ต.ค. 66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยกรณี กมธ.เชิญกองทัพเรือ ชี้แจงประเด็นการยกเลิกการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน เปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต ในวันที่ 26 ต.ค. นี้ ว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเงินภาษีของประชาชน ซึ่งมีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจำเป็นที่ประชาชนต้องรับทราบข้อมูลต่าง ๆ อาทิ โครงการที่เกี่ยวข้องกับท่าเทียบเรือ การฝึกอบรมกำลังพล อาคาร และระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วเท่าไร ส่วนเมื่อยุติการซื้อเรือดำน้ำแล้วจะจัดการอย่างไรกับเรือฟริเกต
นายวิโรจน์ กล่าวถึงประเด็นที่ กมธ. จะถามกองทัพเรือ ประเด็นแรกคือกรณีที่สหภาพยุโรปมีข้อตกลงห้ามส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ประเทศจีนหลังเกิดเหตุที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นเรื่องที่ทูตทหารจำเป็นต้องรู้ จึงต้องตั้งคำถามว่าก่อนการลงนามซื้อเรือดำน้ำในปี 60 ไทยได้ทำหนังสือไปขอคำยืนยันจากประเทศจีนหรือไม่ หรือเป็นการลงนามที่หละหลวม ประเด็นต่อมาคือมูลค่าความเสียหายทั้งหมดรวมเป็นเท่าไร และในสัญญามีการระบุรายละเอียดเรื่องการขอคืนเงินไว้หรือไม่ ทั้งนี้กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือต้องชี้แจงเรื่องดังกล่าวกับประชาชนก่อน ส่วนการปรับหรือการขอคืนเป็นสินค้าอย่างอื่น สามารถพิจารณากันได้ภายใต้กรอบกฎหมายและเหตุผล คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามกรณีจะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตนั้น มองว่าไทยสามารถเปลี่ยนไม่ให้เกิดความเสียเปรียบได้ เพราะข้อเท็จจริงคือเรือฟริเกตมีหลายสเปค ต้องพิจารณาว่าอุปกรณ์ติดตั้งภายใน การสื่อสารภายในกองเรือกับเรือลำอื่น จะมีอุปสรรคหรือไม่ การลงทุนทำระบบอำนวยการการสื่อสารระหว่างเรือที่ต่างสัญชาติ ทำได้หรือไม่ และการสำรองอะไหล่ ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเป็นอย่างไร เพราะหากมีเรือรบหลายรุ่นหลายผู้ผลิต ก็ต้องมีวิธีบำรุงรักษาแตกต่างกัน
นอกจากนี้จากที่ได้หารือกับสมาคมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ทราบว่าเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (OPV) บริษัทในประเทศไทยสามารถต่อเองได้ ดังนั้นเชื่อว่าถ้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล มีการร่วมมือกันระหว่างกรมอู่ทหารเรือและบริษัทเอกชนของไทย การต่อเรือฟริเกตก็สามารถทำได้เช่นกัน จึงขอแนะนำให้กระทรวงกลาโหม ศึกษาแนวคิดด้าน Economics of Defense หรือเศรษฐศาสตร์ด้านการป้องกันประเทศ ว่าจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินที่ใช้กับการป้องกันประเทศ สามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์กับประชาชนในระยะยาว